เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2568 ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เดินทางเข้ารับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อำนวยการ บพค. ที่สำนักงานเป็นวันแรก พร้อมรับมอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีจากผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งผู้บริหารงานภาครัฐ คณะนักวิจัย และอาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมพบปะบุคลากร ผู้บริหารและพนักงาน บพค. ณ ห้องประชุมหว้ากอ 2 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ตามที่ประชุมคณะกรรมการ บพค. มีมติแต่งตั้ง ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ บพค. คนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2568 เป็นต้นไป มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 นั้น
ดร.ณิรวัฒน์ฯ ได้กล่าวทักทายและแสดงความขอบคุณแก่คณะผู้เดินทางมาแสดงความยินดีกับตนในวาระการดำรงตำแหน่ง ผอ. ในครั้งนี้ จากนั้นได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ กำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานขององค์กร (Townhall Meeting) แก่พนักงาน บพค. ทุกคนในห้วงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งหลังจากนี้
“บพค. เป็นองค์กรชั้นนำด้านการบริหารและจัดการทุน เพื่อพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงและงานวิจัยขั้นแนวหน้า โดยมุ่งสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก ผ่านความร่วมมือระดับนานาชาติและการส่งเสริมเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโลก เทคโนโลยีที่รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตและเทคโนโลยีที่แก้ปัญหาท้าทายทางสังคมอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับมาตรฐานการศึกษา งานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาองค์ความรู้และการนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” ดร.ณิรวัฒน์กล่าวให้วิสัยทัศน์องค์กรที่จะใช้เป็นกลไกขับเคลื่อนหลักของการบริหารงาน
ภายหลังการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เมื่อปี พ.ศ. 2562 มีการจัดตั้งขึ้นของหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit, PMU) เฉพาะด้าน 3 หน่วย ซึ่ง บพค. ถือเป็น PMU หลักในด้านการสนับสนุน 4 ภารกิจที่สำคัญ ได้แก่ 1) จัดสรรทุนพัฒนากำลังคนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐ 2) สนับสนุนทุนการศึกษาและทุนวิจัย เพื่อพัฒนาบุคลากรระดับสูงให้มีศักยภาพระดับสากล 3) ส่งเสริมและพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และ 4) สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อรองรับการเติบโตของระบบวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืน