บพค. ร่วมติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่จังหวัด เชียงราย - พะเยา ภายใต้การประชุม ครม. สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน)

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. และนางสาวสุภาวดี เนียมสูงเนิน, นางสาวชนินาถ ศรีเพ็ญ นักวิเคราะห์อาวุโส บพค. ร่วมติดตามนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วีรพงษ์ แพสุวรรณ ที่ปรึกษา รมว.อว. และคณะผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของ อว. ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีเมืองเชียงราย พร้อมชุมชนต้นแบบจำนวน 14 ชุมชน รวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาเชียงราย ได้ให้การต้อนรับคณะรัฐมนตรี อว. พร้อมพาเยี่ยมชมพื้นที่ต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ชุมชนป่าตึงริมกก และเดินชมสินค้าที่ผู้ประกอบการได้รับการบ่มเพาะจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชน ดังนี้

  1. ติดตามการดำเนินงานเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ GNLC (Global Network of Learning Cities) ขององค์การ “ยูเนสโก” (UNESCO) ณ ชุมชนป่าตึงริมกก ในโครงการพัฒนานครเชียงรายสู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ และการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนทุกวัยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยชุมชนสร้างรายได้จากการนำขยะมาแปรรูปให้เป็นสินค้าเพิ่มมูลค่า รวมถึงพัฒนานวัตกรรมอาหารปลอดภัย ซึ่งเทศบาลนครเชียงราย มีเป้าหมายมุ่งพัฒนานครเชียงรายสู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดการพัฒนามืองแห่งการเรียนรู้สำหรับคนทุกวัยเป็นฐานในการพัฒนาคนในพื้นที่เทศบาลนครชียงราย ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขมีความมั่นคงด้านอาหาร สร้างความมั่นคงด้านรายได้ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการและมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาของชุมชนส่งผลให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง
  2. ติดตามการดำเนินงาน Young Smart Farmer (YSF) ณ ร้านโอโซนฟาร์ม โดยเป็นระบบฟาร์มที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มคุณภาพการผลิต และควบคุมระบบการปลูกพืชออร์แกนิกส์ปลอดสารพิษ โดยผู้ประกอบการได้รับการบ่มเพาะ และสนับสนุนการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  3. ติดตามผลการดำเนินงาน การสนับสนุนงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ SMEs/วิสาหกิจชุมชน ณ บริษัท เฮลท์ เฮิร์บ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษํทฯ ให้บริการด้านการแปรรูป การผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นบริษัททีเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรม มีการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญากว่า 300 เรื่อง โดยบริษัท ได้รับการพัฒนางานวิจัยร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเป็นบริษัทตัวอย่างที่ อว. ให้การสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม
  4. ติดตามผลการดำเนินงาน ณ บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย เยี่ยมชมผลงานที่ได้รับการสนับสนุนจาก อว. ด้านงานศิลปะการออกแบบ : Chiangrai Creative City เชียงรายเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านออกแบบ (City of Design) ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

การติดตามลงพื้นที่ ณ จังหวัดเชียงราย ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของมหาวิทยาลัยและประชาชนในพื้นที่ชุมชนในการร่วมสร้างเมืองที่ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนานครเชียงรายสู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ โดยใช้กลไกลการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกช่วง วัยเป็นฐาน และเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินงานให้กับพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป ซึ่งกระทรวง อว. และ บพค. พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่สำหรับการผลักดันงานวิจัยสู่ชุมชน และภาคอุตสาหกรม โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐาน