บพค. ร่วมเสวนาวิชาการการบริหารจัดการทุนวิจัย Strategic Fund ภายในงาน RMUTR Research Mini Expo 2024

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย นางสาวชนินาถ ศรีเพ็ญ และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส บพค. เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาวิชาการหัวข้อ “เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยและการบริหารจัดการงานวิจัย มุ่งสู่การพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์และการนำไปใช้ประโยชน์สู่สาธารณะ” ภายในงาน RMUTR Research Mini Expo 2024 ซึ่งเป็นงานจัดแสดงผลงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม มีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อเผยแพร่ความรู้ในการเขียนข้อเสนอโครงการให้ตอบโจทย์ความต้องการของแหล่งทุนและประเทศให้กับบุคลากรมหาวิทยาลัย และเผยแพร่ผลงานวิจัยให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ รวมถึงการนำผลงานไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยช่วงกิจกรรมเสวนามีผู้แทนจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ด้วย ภายในงานฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยเชิงมูลฐาน (Fundamental Fund: FF) และทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund: SF) ของคณะผู้วิจัยหลากหลายสาขากว่า 35 ผลงาน การจัดการประกวดสิ่งประดิษฐ์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม 22 ผลงาน การมอบรางวัลแก่นักวิจัยดีเด่น และมอบประกาศนียบัตรแก่นักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยประจำปีงบประมาณ 2566

ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ฯ ได้กล่าวบรรยายถึงภารกิจและพันธกิจของ บพค. ที่ได้รับหน้าที่ในการบริหารและจัดการทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ในโครงสร้างระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 และยุทธศาสตร์ที่ 4 มุ่งเน้นการพัฒนาการทำวิจัยขั้นแนวหน้าที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำยุค และการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของอุตสาหกรรมและประเทศในสาขาที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น Frontier BCG Future technology Frontier SHA (Creative content) AI เป็นต้น ซึ่ง บพค. เน้นหลักการทำงานในรูปแบบเชิงรุกผ่านเครือข่ายความร่วมมือที่เป็น Consortium เฉพาะด้าน อันเกิดจากภาคการวิจัย ภาคผู้ใช้ ประโยชน์ ภาคส่วนนโยบาย และภาคประชาสังคมร่วมกันทำงานเป็น Quadrupole Helix เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้แก่ระบบ ววน. และประเทศชาติต่อไปได้

โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บวรกิตติ์ เนคมานุรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ในฐานะคณะอำนวยการจัดงาน ได้กล่าวต้อนรับและขอบคุณผู้แทนจากแหล่งทุนในการเข้าร่วมเสวนาวิชาการและเผยแพร่ความรู้ให้แก่บุคลากรในมหาวิทยาลัยฯ ในครั้งนี้ ซึ่งจะได้มีการต่อยอดหารือการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาท้องถิ่นและการพัฒนากำลังคนให้ตรงต่อความต้องการของประเทศต่อไป