อว.-บพค. มุ่งหวังสร้างสะพานเชื่อมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ร่วมพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า และการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 นำโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากกระทรวง อว. และเจ้าหน้าที่ บพค. ร่วมติดตามคณะเข้าเยี่ยมชมและประชุมหารือความร่วมมือกับ ศ. ดร.ลี ซังรยอล (Prof.Lee Sang-Ryool) ประธานสถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลี (Korea Aerospace Research Institute หรือ KARI) ณ เมืองแทจอน ประเทศเกาหลีใต้

ก่อนที่จะเริ่มการเจรจา ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุโศกนาฏกรรมที่อิแทวอน กรุงโซล และขอแสดงความไว้อาลัยต่อการสูญเสียแก่สาธารณรัฐเกาหลี มา ณ โอกาสนี้

จากนั้น ทั้งสองฝ่ายหารือร่วมกันในการสร้างความร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งฝ่ายไทยนำโดย รมว. อว. พูดคุย ใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. การพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและการบิน รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจ ระบบนิเวศวิจัยทางด้านอวกาศ ร่วมกันระหว่างเกาหลีและประเทศไทย
  2. การหารือความร่วมมือด้านกำลังคน และ Space Infrastructure (Spaceport) โดยประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศแถบภูมิภาคอาเซียนในที่จะสร้างความร่วมมือร่วมกันต่อไป

พร้อมกันนี้ รมว. อว. และคณะได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการต่าง ๆ ของ สถาบันวิจัยการบินอวกาศสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Aerospace Research Institute หรือ KARI) ได้แก่

  • Space Test & Satellite Integration Center: เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต่าง ๆ อาทิ Satellite Integration Hall, Large Thermal Vacuum Test Hall, และ Optical Payload Integration & Test Hall เป็นต้น
  • Multi Mission Control Center: รับฟังการนำเสนอภารกิจในการทำงานวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยสร้างฐานปล่อยกระสวยอวกาศในสาธารณรัฐเกาหลี และพัฒนาดาวเทียมขึ้นเอง ซึ่งดาวเทียมที่ได้ปล่อยขึ้นสู่วงโคจรแล้วคือ KOMSAT 1, KOMSAT 2 และ KOMSAT 3

จากนั้น รมว. อว. พร้อมด้วยคณะเดินทางไปสถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (Korea Advanced Institute of Science and Technology หรือ KAIST) ณ เมืองแทจอน เพื่อหารือกับ ศ. ดร.ลี กวางยัง (Prof. Lee Kwang Hyung) ผู้อำนวยการ KAIST ถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเกาหลีในการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมด้านงานวิจัยขั้นแนวหน้าและการพัฒนากำลังคนขั้นสูงในสาขาควอนตัม ฟิสิกส์พลังงานสูง และพลาสมา โอกาสนี้ รมว. อว. และคณะได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ของนิวเคลียร์ฟิวชันและก๊าซดิสชาร์จ (Nuclear Fusion and Gas Discharge Physics Lab) โดยมี ศ. ดร.โช วอนโฮ (Prof. Choe Wonho) อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์และควอนตัม รายงานแนวทางการดำเนินงานวิจัยและนำเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการฯ โดยแบ่งการศึกษาทางด้านพลาสมาเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. Fusion Plasma ที่เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์ฟิวชันแห่งอนาคต
  2. Thruster Plasma เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีการขับดันไฟฟ้าสำหรับโครงการด้านอวกาศ
  3. Atmospheric Plasma ที่อาศัยฐานของเทคโนโลยีพลาสมาในการประยุกต์ใช้ด้านต่าง ๆ ทั้งด้านวัสดุศาสตร์ อาหาร การเกษตร และการแพทย์

ทั้งนี้ ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะเป็นสะพานเชื่อมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยและเกาหลีใต้ทั้งในด้านการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า และการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง โดยในการนี้ ประธานสถาบัน KARI และประธานสถาบัน KAIST ได้ตอบรับถึงความพร้อมของสถาบันที่จะร่วมมือในการพัฒนางานวิจัย รวมถึงบุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับประเทศไทย ต่อไป