บพค. ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานโครงการการสร้างและเสริมแกร่งระบบนิเวศแบบบูรณาการสำหรับการวิจัยทางเทคโนโลยีควอนตัมระดับประเทศ

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผศ. ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการเทคนิคสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่

  • ศ.ดร.สำเริง จักรใจ ประธานอนุกรรมการเทคนิคสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรม
  • ศ. ดร.วิทยา อมรกิจบำรุง อนุกรรมการเทคนิคสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรม
  • ศ. ดร.ธวัชชัย ตันฑุลานิ อนุกรรมการเทคนิคสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรม
  • ผศ. ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนากำลังคน
  • ดร.ธิดารัตน์ โกมลวานิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนากำลังคน

ร่วมลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการและความก้าวหน้าโครงการ ภายใต้แผนงานการสร้างโอกาสและความสามารถในการเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีควอนตัม โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยขั้นพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ประจำปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ณ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ

โอกาสนี้ ผศ. ดร.ศิรินันท์ฯ ได้กล่าวเปิดงานพร้อมชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการติดตามโครงการ การบริหารจัดการโครงการวิจัย การเชื่อมโยงงานวิจัยกับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และการทำงานร่วมกันกับหน่วยงนระดับโลก จากนั้นได้ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย

รศ. ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา หัวหน้าชุดโครงการ นำเสนอภาพรวมของโครงการซึ่งประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่ 1) มาตรวิทยาและการวัดเชิงควอนตัม 2) การสื่อสารเชิงควอนตัม และ 3) การจำลองเชิงควอนตัมและอัลกอริทึม โดยชุดโครงการสามารถผลิตบทความทางวิชาการที่มีคุณภาพสูง กำลังคนสมรรถนะสูง ต้นแบบผลิตภัณฑ์ (Prototype) และโครงสร้างพื้นฐานทางด้านควอนตัม (Quantum Infrastructure)

ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ หนึ่งในนักวิจัยได้นำเสนอความก้าวหน้าการวิจัยมาตรฐานการวัดเชิงควอนตัม ซึ่งทางโครงการสามารถผลิตผลงานที่น่าสนใจและเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างให้กับสังคมไทย อาทิ การพัฒนานาฬิกาอะตอมเชิงแสงของไอออนธาตุอิธเธอเบียม (Atomic Clock) การสร้างเครื่องชั่งแบบคิบเบิล (Kibble balance) ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นประเทศชั้นนำระดับโลกด้านมาตรวิทยา และจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทในการร่วมกำหนดค่ามาตรฐานด้านการวัดที่สำคัญกับสถาบันมาตรวิทยาระดับนานาชาติได้

จากนั้น บพค. และคณะได้เข้าเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ได้แก่

  • ห้องปฏิบัติการเวลาและความถี่ : ดร.ปิยพัฒน์ พูลทอง หัวหน้าโครงการย่อยมาตรวิทยาและควอนตัม นำเสนอความเป็นมาและรายงานความก้าวหน้าของการพัฒนานาฬิกาอะตอมเชิงแสงของไอออนธาตุอิธเธอเบียม ที่ออกแบบและผลิตด้วยเทคโนโลยีในประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะร่วมกำหนดนิยามใหม่ของวินาทีในปี 2569 ร่วมกับนานาชาติ โดยเทคโนโลยีควอนตัมนี้ ทำให้ประเทศไทยมี Infrastructure ชั้นนำทางด้านเวลาและการวัดความถี่ที่แม่นยำในระดับมาตรฐานโลก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอวกาศ การวัด GPS ที่มีความแม่นยำสูง อุตสาหกรรมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การสร้างความมั่นคงระดับประเทศ และยังสามารถรองรับงานวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านควอนตัมและเทคโนโลยีเชิงแสงได้ต่อไป
  • ห้องปฏิบัติการตาชั่งแบบคิบเบิล : ทางคณะฯ ได้รับชมต้นแบบเครื่องชั่งไฟฟ้า Kibble Balance ซึ่งผลิตสำเร็จเป็นเครื่องแรกโดยทีมนักวิจัยคนไทย และเป็นเครื่องเดียวของภูมิภาคอาเซียน โดยสามารถชั่งได้ได้ในช่วง 150-200 กรัม และยังคงต่อยอดการพัฒนาเครื่องชั่งเพื่อให้สามารถใช้งานได้ถึง 1 กิโลกรัม โดยผลจากการที่ประเทศไทยมีความสามารถนี้จะผลักดันระบบมาตรวิทยาของไทยไปสู่ระดับแนวหน้า มีการชั่งน้ำหนักและเทียบน้ำหนักได้อย่างแม่นยำ และสามารถเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกต่อไป
  • ห้องปฏิบัติการมาตรฐานปฐมภูมิทางไฟฟ้า : ทางคณะได้ รับชม เทคโนโลยีสะพานความต้านทานเชิงควอนตัม (Quantum Impedance bridge) ซึ่งทางห้องปฏิบัติการมีการดำเนินการติดตั้งระบบแรงดันไฟฟ้ามาตรฐานโจเซฟสัน (Josephson Junction Voltage Standard, JJVS) เพื่อใช้เป็นมาตรฐานระดับปฐมภูมิของแรงดันไฟฟ้า งานทางด้านนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทางไฟฟ้าต่อไป

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการและความก้าวหน้าโครงการในครั้งนี้ ได้สร้างความเข้าใจ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้ทุน บพค. กับทางนักวิจัยได้อย่างดีเยี่ยม มีการเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ ผลผลิต ผลลัพธ์ รวมถึงผลกระทบในวงกว้างต่อสังคมไทยที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ซึ่งโครงการนี้สามารถสร้างผลกระทบที่ดีเยี่ยมต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคมของประเทศไทย รวมถึงการสร้างคนที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีควอนตัมเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมควอนตัมในระดับโลกที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้