บพค. ร่วมพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยไปสู่เวทีโลก ระยะที่ 1

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. และคณะ เข้าร่วมงานเทศกาลหนังเมืองแคน ครั้งที่ 6 KAEN FILM FESTIVAL KHONKAEN UNIVERSITY 2022

การจัดงานเทศกาลหนังเมืองแคนในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมแข่งขัน Teaser หนังสั้น ภายใต้โจทย์ “นาค” จำนวน 61 ทีม ซึ่งมากจากทั้งประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมี ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. เป็นเกียรติในการมอบรางวัลให้แก่ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการ เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท/ทีม รวมทั้งสิ้น 20 ทีม

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 บพค. ได้ร่วมจัด การประชุม Consortium งานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ (SHA) และอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการเขียนเค้าโครงงานวิจัย (Research proposal) มุ่งสนับสนุนการพัฒนากำลังคนป้อนสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่เวทีโลก นำโดย ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย คุณจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์การวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Frontier SHA/AI) และ รศ.ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์การพัฒนาการวิจัยขั้นแนวหน้าและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่ออนาคต (Frontier Technology) เป็นวิทยากรร่วมในเวทีการอบรมครั้งนี้

การอบรมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 20 ท่าน อาทิ คณาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้กำกับหนังชื่อดังอย่างคุณปื๊ด ธนิตย์ จิตนุกูล และดารานักแสดง คุณไพโรจน์ สังวริบุตร รวมทั้งภาคีเครือข่ายภาคเอกชนในด้านการทำภาพยนต์จากทางฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เช่น ลาวนิวเวฟ ลาวอาร์ตมีเดีย ฯ

โอกาสนี้ ดร.วรจิตต์ ในนาม บพค. ได้นำเสนอถึงนโยบายและแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัย เพื่อการพัฒนากำลังคนและงานวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะกรรมศาสตร์ (SHA) บทบาทของ บพค. เป้าหมายการพัฒนากำลังคน รวมทั้งยุทธศาสตร์ของ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปี 2566-2570 และแผนงานปีงบประมาณ 2566–2570 ของ บพค. โดยทาง บพค. เล็งเห็นถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนเกี่ยวกับด้านภาพยนตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศที่ไม่สูงนักเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ โดยได้ให้แนวทางการขับเคลื่อนแบบ Gig Economy (ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากงานแบบครั้งคราว หรืองานที่รับจ้างแล้วจบไป) ในประเทศไทย และแนวทางการสร้างงานวิจัย Frontier และการพัฒนากำลังคนของ บพค. SHA-SOFT POWER ที่อยู่ในระดับ International Collab Creative Content โดยมี Brainpower คือ National Platform กำลังคนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะสามารถผลักดันและพัฒนาไปในระดับ Globalized Creative Content ในอนาคตต่อไปได้

จากนั้น คุณจตุรภรณ์ และ รศ.ดร.รินา ได้จัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผู้เข้าร่วมการอบรม เพื่อเป็นการสร้างองค์ความรู้ในการเขียนเค้าโครงงานวิจัย (Research proposal) เพื่อพัฒนา Consortium ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอนาคตของประเทศไทยต่อไป