อว. นำทีมคณะผู้บริหาร บพค.-สซ.-สทอภ. หารือ “เซิร์น” สถาบันวิจัยฟิสิกส์พื้นฐานระดับโลก ยกระดับการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ ผศ. ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้เข้าร่วมศึกษาดูงานและร่วมหารือความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ณ สถาบันวิจัยเซิร์น (Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire, CERN) เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นำโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) ศ. ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. รศ. ดร.สาโรช รุจิรวรรธณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กรรมการ สซ. และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และนักวิจัยของหน่วยงานจากกระทรวง อว.

โดยมีนักวิจัยไทยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพค. ภายใต้โครงการ “โครงการพัฒนางานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงร่วมกับเซิร์น” ประจำปีงบประมาณ 2565 คือ ผศ.ดร.นรพัทธ์ ศรีมโนภาษ หัวหน้าโครงการ และ ดร.ชญานิษฐ์ อัศวตั้งตระกูลดี จากภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมวิจัยของสถานีวิจัย Compact Muon Solenoid (CMS) ของ CERN ร่วมให้การต้อนรับคณะจากประเทศไทย

สถาบันวิจัยเซิร์นก่อตั้งขึ้นในปี 2497 มีประเทศสมาชิกก่อตั้งร่วมกันทั้งหมด 12 ประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศในยุโรป สถาบันนี้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถาบันวิจัยฟิสิกส์พื้นฐานระดับโลก ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักวิจัย วิศวกร และนักฟิสิกส์ชั้นนำของโลก ในการออกแบบจัดสร้างเครื่องเร่งอนุภาคเครื่องตรวจวัดอนุภาค และวิจัยทั้งทางทฤษฎีและการทดลองด้านฟิสิกส์อนุภาค รวมถึงการวิจัยที่เป็นฟิสิกส์แนวหน้า (Frontier Physics) เมื่อปี พ.ศ. 2552 เซิร์นได้ประสบความสำเร็จในการสร้างเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ LHC (Large Hadron Collider) โดยมีเส้นรอบวง 27 กิโลเมตร อยู่ในอุโมงค์ลึกใต้ดิน 100 เมตร ในพรมแดนทั้งสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ประกอบไปด้วย สถานีวิจัยที่สำคัญ 4 สถานี ได้แก่ ATLAS CMS ALICE และ LHCb เพื่อศึกษาถึงการจำลองเหตุการณ์บิ๊กแบงที่เป็นแหล่งกำเนิดของจักรวาล โดยความร่วมมือระหว่างไทยกับเซิร์นเกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่สนพระทัยในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเซิร์น ทรงมีพระราชดำริที่จะให้นักวิทยาศาสตร์จากประเทศไทยได้มีโอกาสทำงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยที่เซิร์น

การเดินทางมาที่เซิร์นในครั้งนี้ รัฐมนตรี อว. ได้หารือถึงแนวทางการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย และมหาวิทยาลัยของประเทศไทยกับเซิร์น ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้เรียนรู้ความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาที่เกี่ยวกับฟิสิกส์พลังงานสูง (High Energy Physics) และฟิสิกส์อนุภาค (Particles Physics) นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับต่าง ๆ เพื่อให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ นำมาซึ่งการยกระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย และการสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป

บพค. ในฐานะหน่วยบริหารและจัดสรรทุนด้านการพัฒนากำลังคน ที่สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มุ่งส่งเสริมและผลักดันให้นักวิจัยไทยได้ทำวิจัยร่วมกับพันธมิตรต่างประเทศเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี ต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมและการพัฒนาประเทศที่มีความสำคัญและสร้างผลกระทบสูง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมทำงานเชิงรุกโดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกต่อ