อว. นำทีมคณะผู้บริหาร บพค.-สซ.-สทอภ. หารือความร่วมมือ “สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน-สวิตฯ” ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนากำลังคน สู่การรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตรอนพลังงานสูง

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และ ผศ. ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้เข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน หรือ Swiss Light Source (SLS) ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ หรือ Paul Scherrer Institut (PSI) ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นำโดย ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กระทรวง อว.) พร้อมด้วย รศ. ดร.สาโรช รุจิรวรรธณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ศ. ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ กรรมการ สซ. และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และนักวิจัยของหน่วยงานจากกระทรวง อว.  

Swiss light source (SLS) เป็นเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ที่มีระดับพลังงานที่ 2.4 GeV ในปัจจุบัน SLS ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมีการปรับปรุงให้มีพลังงานที่สูงขึ้นที่ 2.7 GeV ซึ่งมีความเข้มแสงเพิ่มมากขึ้นและประหยัดพลังงาน นอกจากนี้พันธกิจของ SLS มีการศึกษางานทางด้านวัสดุศาสตร์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ชีววิทยา และสุขภาพการแพทย์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ขับเคลื่อนงานวิจัยโดยมีโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

ปัจจุบันนี้ มีผู้ใช้งาน Swiss light source เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผลงานชั้นนำมากมาย อาทิ การศึกษาถึงโครงสร้างของวัสดุในระดับไมโคร การถ่ายภาพ 3 มิติของสมองหนูเพื่อเป็นความรู้พื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาโปรเจคการถ่ายภาพสมองคน (Human Brian Project) ผ่านการใช้เทคโนโลยีของการถ่ายภาพแบบความละเอียดสูงโดยใช้แสงซินโครตรอน รวมถึงการพัฒนาวัสดุใหม่สำหรับแบตเตอรี่ในอนาคตโดยใช้ลิเทียมไอออน เพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บประจุ เป็นต้น

SLS เป็นหน่วยงานของ Swiss Federation ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขนาดใหญ่ มีการทำงานร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั่วโลก มีการพัฒนากำลังคนชั้นสูง และยังมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้กับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ โดยในการศึกษาดูงานในครั้งนี้ทางคณะฯ จากประเทศไทย ยังได้มีการหารือถึงแนวทางความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบัน Paul Scherrer Institut (PSI) ด้านการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนพลังงานสูง (Proton Beam Therapy) ร่วมกับหน่วยวิจัยทางการแพทย์ของประเทศไทย และจะมีการร่วมมือการทำงานในด้านต่าง ๆ อีกต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ บพค. ในฐานะที่เป็นหน่วยบริหารจัดการทุน ที่มุ่งสนับสนุนการพัฒนากำลังคน การวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ที่เป็นโจทย์ท้าทายในระดับโลก รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมุ่งส่งเสริมการวิจัย และพัฒนางานวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมร่วมกับหน่วยงานสากล เพื่อเป็นการปักหมุดความเชี่ยวชาญของบุคลากรของประเทศไทยในเวทีโลก ตลอดจน บพค. ยังได้มีการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรวิจัยต่างประเทศ เพื่อเพิ่มบทบาทเชิงรุกในงานวิจัยด้านต่าง ๆ ของไทยในระดับสากลต่อไป