บพค. – สอวช. – กองทุนพัฒนาสื่อฯ หารือแนวทางความร่วมมือการพัฒนากำลังคนด้านสื่อสารมวลชน กำหนดทิศทางสื่อไทย

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นำโดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัย คณะผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อมวลชนจาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้าพบปะและหารือกับ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ และ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมด้วยบุคลากรการวิจัยขั้นแนวหน้าด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์

โดยได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนทางสื่อสารมวลชน รวมถึงทิศทางของสื่อไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังร่วมแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจต่อกระบวนการทำงานในภาพรวมของหน่วยงานทั้งสองฝ่าย ในการสร้างคน สร้างกระบวนการ และนวัตกรรมสื่อแบบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเนื้อหาที่เป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น และนำเสนอข้อมูลที่ตอบโจทย์ความต้องการเพื่อการเล่าเรื่องได้รอบด้าน หลากหลายแง่มุม และขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์สู่การมีส่วนร่วมของคนในสังคมได้ พร้อมทั้งสร้างฐานความรู้ด้านต่าง ๆ ในการสนับสนุนการสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งนำมาสู่การตั้งคณะทำงานที่จะวางยุทธศาสตร์ความร่วมมือในด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าและการสร้างเสริมระบบนิเวศ กลไกเครื่องมือ และบุคลากรนักคิดที่สร้างสรรค์ของวงการสื่อ เพื่อตอบโจทย์เชิงนโยบายและขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับสื่อปลอดภัยและสื่อสร้างสรรค์ของประเทศร่วมกัน

ทั้งนี้ บพค. มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนา Brainpower กลุ่มคนที่ทำหน้าที่สร้างความรู้และปัญญาที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งนวัตกรรมที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ บริการ กระบวนการ ฯลฯ ให้กับองค์กร ธุรกิจ/อุตสาหกรรม สังคม และประเทศ Manpower กลุ่มคนที่เป็นกำลังขับเคลื่อนงานในองค์กร ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามบทบาทและภารกิจขององค์กร ซึ่งรวมทั้งกลุ่มคนที่ทักษะสูง และกลุ่มคนที่คนที่เป็นแรงงาน พร้อมทั้ง Creative Economy with Frontier SHA เศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่าน เพื่อนำไปสู่การที่ประเทศจะมีโอกาสเป็นเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมการทำงานวิจัยข้ามสาขาวิทยาศาสตร์ร่วมกับทางสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์/ศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับทุกประเทศในอนาคต