บพค. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายคอนซอร์ตเตียมด้าน Frontier BCG

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้มอบหมายให้ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ ด้าน Frontier BCG พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ด้าน Frontier Research และคุณจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ด้าน SHA และ AI เข้าร่วมงาน “ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ The 1st International Reinventing University Roadmap for Phenomics Symposium 2023” เพื่อหาพันธมิตรในการพัฒนาเครือข่ายคอนซอร์ตเตียมด้าน Frontier BCG ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ฉัตรชัย เหมือนประสาท ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ ด้าน Frontier BCG ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “Scopes and mechanisms to support BCG frontier research by PMU-B” โดยกล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนทุนของ บพค. ซึ่งมุ่งเน้นเกี่ยวกับ BCG Model และ BCG Economy ผ่านการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มแบบจตุภาคี ได้แก่ 1) มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย 2) รัฐบาล 3) ต่างประเทศ และ 4) เอกชน/สังคม/ชุมชน

ทั้งนี้ยังได้กล่าวถึงแนวทางการสร้างงานวิจัยด้าน BCG Frontier และการพัฒนากำลังคนของ บพค. โดยเป็นการสร้างกำลังคนขั้นสูง (Brainpower) และระบบนิเวศ (Ecosystem) รวมทั้งสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าด้าน Personalized Medicine และ Future Food แบบเครือข่ายคอนซอร์ตเตียมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและพัฒนาไปสู่ Personalized Health Hub ในระดับสากลต่อไป จากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการฟีโนมนานาชาติแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ต่อมา คณะ บพค. ได้เดินทางไปรับฟังการนำเสนอโจทย์วิจัย โดย ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในเรื่อง “โครงการจัดตั้งห้องปฏิบัติอุตสาหกรรมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมสร้างธุรกิจและบริการภาคเอกชนในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง” และได้ร่วมหารือเพื่อเกลี่ยทิศทางโจทย์วิจัยไปยังด้าน Frontier BCG โดยมีการฝึกอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Secutity) และมีการออกใบ Certificate แบ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย 3 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นฐาน ระดับผู้เชี่ยวชาญ และระดับผู้บริหาร

ด้าน คุณจตุรภรณ์ โชคภูเขียว ได้เสนอแนะให้นำเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เข้ามาประยุกต์ใช้กับ Big data personal health AI ในด้านของเครือข่ายทีมแพทย์ ที่กำลังเริ่มทำเครือข่าย Big Data อยู่ในขณะนี้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เจ้าหน้าที่โรงเรียนแพทย์ และบุคลากรในโรงพยาบาล ซึ่งได้มีการวางแผนสร้างเป็นข้อเสนอโครงการและยื่นของบประมาณในปี 2567 ต่อไป

นอกจากนี้ คณะ บพค. ได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมการผลิต (โรงผลิตยา) ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยในสถานปฏิบัติการแห่งนี้ ได้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางจากสารสกัดจากพืช สมุนไพร อีกทั้งยังมีการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับโครงการฟาร์มอัจฉริยะ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการนำโปรตีนจากอกไก่ โดยคัดเลือกเฉพาะสายพันธ์ที่ให้โปรตีนและคอลลาเจนสูง มีกรดยูริกต่ำ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอาหารเสริม ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและผลักดันให้กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกด้าน ODM ที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้นแก่ผู้ประกอบการในอนาคตต่อไป