สภานโยบายเคาะ ตั้ง 3 หน่วยบริหารและจัดการทุน ใน สอวช. ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ ววน. ปี 64 จำนวน 47,192 ลบ.

(24 ตุลาคม 2562) สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เคาะ ตั้ง 3 หน่วยบริหารและจัดการทุน ภายใต้การกำกับดูแลของสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามนโยบายของรัฐบาลโดยให้หน่วยบริหารและจัดการทุนมีอิสระในการบริหารงานจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) แต่ยังคงเป็นกิจการและเป็นส่วนหนึ่งของ สอวช. คาดจะจัดตั้งแล้วเสร็จช่วง เดือนพฤศจิกายน 2562 พร้อมมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 47,192 ล้านบาท

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า ระบบการบริหารและจัดการทุนของไทยแต่เดิมมีหน่วยงานบริหารและจัดการทุน 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งแต่ละหน่วยจะมีภารกิจของตนเองซึ่งอาจไม่ครอบคลุมทุกมิติของการขับเคลื่อนไทยสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและไม่มีกำลังพอที่จะสามารถผลักดันให้ประเทศไทยสามารถสร้างนวัตกรรมในตลาดโลกได้และเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม สภานโยบายจึงได้มีการจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านภายใต้สภานโยบายขึ้น โดยไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการบริหารที่มีความเป็นอิสระ และมี สอวช. ทำหน้าที่เป็นร่มนิติบุคคล โดยไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของคณะกรรมการบริหารและผู้อำนวยการ ทั้งนี้ 3 หน่วยบริหารและจัดการทุน ใน สอวช. ประกอบด้วย หน่วยด้านการพัฒนาด้านกำลังคน หน่วยด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและหน่วยด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่มุ่งเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก โดยทั้ง 3 หน่วยที่ตั้งขึ้น เมื่อขึ้นรูปและฟูมฟักเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเป็นหน่วยงานบริหารและจัดการทุนที่มีประสิทธิภาพแล้วจะเร่ง Spin off ออกจาก สอวช. โดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี

“หน่วยบริหารและจัดการทุนที่จัดตั้งขึ้นใน สอวช. ภายใต้การกำกับดูแลของสภานโยบาย ประกอบด้วย 3 หน่วย คือ 1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดสรรทุนด้านการพัฒนากำลังคนในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการให้ทุนการศึกษา ทุนสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรอื่นหลังปริญญา ทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยและนวัตกรรม และทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี 2. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและภาคบริการ รวมถึงทุนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาดนวัตกรรม การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางนวัตกรรมในภาคการผลิตและภาคบริการ ทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการเพื่อการให้บริการด้านคุณภาพและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งนี้ การให้ทุนดังกล่าวมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนงานที่มีความร่วมมือหรือการร่วมลงทุนกับผู้ใช้ประโยชน์ อาทิ SMEs และภาคอุตสาหกรรม 3. หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่น ที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ ธุรกิจขนาดจิ๋ว วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับพื้นที่” ดร.กิติพงค์ กล่าว

สำหรับหน่วยบริหารและจัดการทุนทั้ง 3 หน่วยข้างต้นมีหน้าที่และอำนาจในการรับเงินอุดหนุนทั่วไปที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือแหล่งทุนอื่นและบริหารเงินดังกล่าวให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อผูกพันการรับทุน บริหารแผนงานด้านการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในความรับผิดชอบให้เกิดผลสัมฤทธิ์ จัดทำนโยบายและหลักเกณฑ์การจัดสรรทุนในด้านต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและนโยบายของรัฐบาลและระบบการจัดสรรทุนภายใต้วัตถุประสงค์ของหน่วยบริหารและจัดการทุนแต่ละแห่ง จัดทำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการขอรับทุนกลั่นกรองคำขอรับทุน และจัดสรรทุนให้แก่ผู้รับทุน ส่งเสริมและประสานให้ผู้รับทุนรวมตัวเพื่อร่วมกันรับและดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเพื่อให้เกิดพลังและความสำเร็จ ติดตามและช่วยเหลือให้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนประสบผลสัมฤทธิ์ประเมินผลโครงการที่ได้รับการสนับสนุน รวมถึงวิเคราะห์สังเคราะห์ผลที่ได้จากการให้ทุนสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ในภาพรวมว่าสัมฤทธิ์ผลตามแผนงานด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมหรือไม่ และทำข้อเสนอเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแผนงานใหม่ และจัดทำรายงานประจำปีของหน่วยบริหารและจัดการทุนเสนอต่อสภานโยบาย

ดร.กิติพงค์ ยังเปิดเผยอีกว่า ที่ประชุมสภานโยบายได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารหน่วยบริหารจัดการทุนเฉพาะด้านในระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยคณะกรรมการบริหาร บพค. ประกอบด้วย ดร.ปริญญา จินดาประเสริฐ เป็นประธานกรรมการบริหาร และมี ดร.บัณฑิต ทิพากร และ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการบริหาร บพข. ประกอบด้วย นายเทวินทร์ วงศ์วานิช เป็นประธานกรรมการบริหาร และมี นสพ.รุจเวทย์ ทหารแก้ว และ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนคณะกรรมการบริหาร บพท. ประกอบด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานกรรมการบริหาร และมี ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย และ ดร.นัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ กรรมการบางท่านจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนงานของหน่วยบริหารจัดการทุนแบบเต็มเวลาหรือบางเวลาที่เรียกว่า Commissioner ด้วย

นอกจากนี้ ที่ประชุมสภานโยบาย ได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 47,192 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) 50% และทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ (Strategic Fund) อีก 50% ผ่าน 4 แพลตฟอร์ม คือ การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันและการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำตลอดจนการปฏิรูประบบ อววน.