บพค. จับมือ สกสว. และเครือข่าย ววน. พลิกโฉมองค์กรสู่การเป็นองค์กรสมรรถนะสูงเทียบเท่าระดับนานาชาติ

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนา กำลังคน และทุนด้านการพัฒนา สถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ได้แก่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) และ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนเพื่อการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ครั้งที่ 2” ระหว่างวันที่ 14 – 15 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องแมนดาริน ซี โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้าน ววน. ในการพลิกโฉมและยกระดับหน่วยงานให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงและสามารถเทียบเคียงกับหน่วยงานในระดับนานาชาติได้

ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้กล่าวต้อนรับคณะผู้บริหารและผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ประธานคณะทำงานฯ และรองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวถึงที่มาและความสำคัญของการขับเคลื่อนการยกระดับองค์กรด้าน ววน. ของประเทศผ่านกลไกของคณะทำงานผู้แทนหน่วยงานด้านกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้นำเสนอแนวทางการสนับสนุนแผนงาน โปรแกรม 22 แผนงานพัฒนาและยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและเทียบเคียงกับสถาบันในระดับนานาชาติ โดยให้ความสำคัญกับโครงการในรูปแบบของ Consortium และ การรวมกลุ่มสถาบัน เพื่อการใช้ทรัพยากรและเครือข่ายร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งในกลุ่มสถาบัน

ทั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.เริงชัย ตันสุชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการ “โครงการขับเคลื่อนการยกระดับสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศและสามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ” กล่าวนำเสนอรายงานความก้าวหน้าการศึกษาวิจัย ประกอบด้วย การศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จของสถาบันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของโลก และการศึกษาและวิเคราะห์ Benchmark Parameters และการสร้าง Metrices ที่จะนำไปสู่การยกระดับสถาบัน จากนั้นได้ดำเนินกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ ประกอบด้วย 3 Sessions ดังนี้

  1. Priority of Indicator/Pillar : โดยมีการแบ่งกลุ่มสถาบันทั้งหมดออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อทำการ Brainstorming ในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ (1) common parameters: room of improvement ตามกลุ่มหน่วยงาน (2) specific parameters: room of improvement รายหน่วยงาน (3) mapping parameters / prioritization และ (4) เป้าหมายการพัฒนาตามกลุ่มหน่วยงาน
  2. แนวทางการพัฒนา ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายรายสถาบัน (แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว)
  3. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายรายกลุ่มสถาบัน (แผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว)

สำหรับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีการจัดประชุมและดำเนินกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มสถาบันที่เข้าร่วมได้นำเสนอข้อเสนอโครงการ ภายใต้แผนงาน โปรแกรม 22 โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการบริหาร บพค. และที่ปรึกษาคณะทำงานฯ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่สถาบันต่าง ๆ เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการให้มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปต่อยอดได้ ทั้งนี้ ข้อเสนอโครงการที่ถูกพัฒนาขึ้น ทาง บพค. จะนำไปพิจารณาตามกระบวนการต่อไป

จากนั้นในช่วงบ่าย สกสว. ได้จัดการประชุมคณะทำงานผู้แทนหน่วยงานด้านกลยุทธ์และพัฒนาองค์กรในการขับเคลื่อน เพื่อการยกระดับองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ครั้งที่ 1/2566 เพื่อสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ รองผู้อำนวยการ บพค. เข้าร่วมการประชุม โดยได้นำเสนอแนวทางการสนับสนุนแผนงาน โปรแกรม 22 ซึ่งที่ประชุมฯ มีข้อเสนอแนะว่า สถาบัน ววน. จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการยกระดับสถาบัน ควรเริ่มจากการค้นหาและระบุคู่เทียบจากต่างประเทศ เพื่อหา Room of improvement ของหน่วยงาน และจัดทำ pilot project รวมถึงกลไกในการเชื่อมโยงกับภาคเอกชน โดยการสร้างการรับรู้และการเข้าถึงการให้บริการของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนี้ บพค. ได้รับข้อเสนอแนะจากทางที่ประชุมฯ เพื่อนำมาประกอบการบริหารจัดการทุนภายใต้แผนงานต่อไป