บพค. ลงพื้นที่ติดตามโครงการ Smart Agricultural Robot Contest 2021

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ และทีมนักวิเคราะห์อาวุโส บพค. เดินทางลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินโครงการและรับฟังการสรุปผลการดำเนินงานโครงการ AI for All ภายใต้แผนงานปัญญาประดิษฐ์สำหรับสาธารณชน และมอบรางวัลให้แก่นิสิตและนักศึกษาผู้ชนะการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Agricultural Robot Contest 2021) ณ ห้องประชุมออดิทอเรียมและอาคารศูนย์กิจกรรมนิสิต (True Lab@Kasetsart) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพล อนันตวรสกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีองค์รวมและปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทีมเยาวชนนักประดิษฐ์และอาจารย์ที่ปรึกษาจากเครือข่ายวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้การต้อนรับ

โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยและผู้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะภายใต้โครงการ AI for All ได้นำเสนอถึงวัตถุประสงค์ในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้เพื่อ

  1. ส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาได้มีความรู้ทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ
  2. ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติและระบบปัญญาประดิษฐ์ สำหรับแก้ปัญหาตามโจทย์ที่ได้จากภาคการเกษตรที่เครื่องจักรกลการเกษตรธรรมดาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทำได้ยาก หรือจะทำได้แต่ต้องสั่งซื้อนำเข้าจากต่างประเทศด้วยราคาที่แพง
  3. สนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างผู้เข้าแข่งขันด้วยกันและเผยแพร่เทคโนโลยีสู่ท้องถิ่นผ่านสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวศึกษาในท้องถิ่น และ
  4. สนับสนุนให้เกิดการร่วมจัดทำข้อเสนอโครงการขอทุนวิจัยพัฒนาต่อยอดเข้าสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป จากแหล่งทุนอื่นๆ เมื่อจบการแข่งขัน

ทั้งนี้ ยังกล่าวอีกว่า โครงการนี้ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแล้วเป็นปีที่ 3 โดยมีเป้าหมายในการให้นิสิตและนักศึกษาจากทั่วทุกภูมิภาคเข้าร่วมการประดิษฐ์หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติสำหรับการเกษตรอัจฉริยะ 1,000 คนภายใน 1 ปี และมีผลผลิตเป็นสิ่งประดิษฐ์หุ่นยนต์ทางการเกษตรมากกว่า 100 ผลงาน ในทั้งหมด 17 ประเภท อาทิ หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช หุ่นยนต์ปลูกพืช หุ่นยนต์เก็บเกี่ยว หุ่นยนต์เก็บตัวอย่างดิน ตรวจวิเคราะห์โครงสร้าง ค่าธาตุอาหารและความเป็นกรด-ด่าง หุ่นยนต์กรีดยาง หุ่นยนต์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม หุ่นยนต์เพื่อการจัดการด้านป่าไม้ เป็นต้น ซึ่งทางโครงการได้ดำเนินการคัดเลือกผลงานชนะเลิศเสร็จสิ้นแล้ว และได้รับเกียรติจากคณะผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหาร บพค. มอบเงินรางวัลสนับสนุนจำนวน 50,000 บาทต่อทีม สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าแก่วงการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการหุ่นยนต์ของประเทศไทย