อว.-บพค. มุ่งหวังสร้างสะพานเชื่อมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยและเกาหลีใต้ ร่วมพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า และการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ บพค. เดินทางเข้าเยี่ยมชมและประชุมหารือความร่วมมือกับ ศาสตราจารย์ ดร. บ๊ก ชอลคิม (Prof. Bok Chul Kim) ประธานสถาบันพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Research Council of Science & Technology หรือ NST) ณ เมืองแทจอน ประเทศเกาหลีใต้

จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (University of Science & Technology หรือ UST) ณ เมืองแทจอน เพื่อหารือกับ ศาสตราจารย์ ดร. ซึงยุน โอ (Prof. Seung-Yoon OH) และคณะเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วยตัวแทนจากสถาบันวิจัย KISTI School, KAERI School และตัวแทนนักเรียนไทยที่เข้าศึกษาใน UST ถึงแนวทางการเสริมสร้างทางวิชาการ การพัฒนากำลังคน การร่วมสร้างโปรแกรมการอบรมนักเรียน ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านการวิจัยและวิทยาศาสตร์ ร่วมกันระหว่าง บพค. และ UST รวมถึงสร้างความร่วมมือบนพื้นฐาน และการกำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยี โดยสรุปหัวข้อแนวทางการหารือความร่วมมือ ดังนี้

  1. บพค.-ธัชวิทย์ ร่วมมือกับ UST จะจัดทำบันทึกตกลงความร่วมมือ (MOU) ในช่วงเดือนกันยายนสำหรับการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะสำหรับนักศึกษาปริญญาโท นักศึกษาปริญญาเอก การฝึกงาน (internship program) และ รวมถึงนักวิจัยระดับหลังปริญญาเอก จากความร่วมมือของ สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยในไทยและเกาหลี
  2. เชื่อมประเด็นการพัฒนากำลังคน กับ ธัชวิทย์ และการหาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้าอยู่ใน Think Tank

นอกจากนี้ คณะฯ ยังได้เดินทางไปยังสถาบันต่างๆ เพื่อเสริมสร้างและต่อยอดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทยกับสถาบันต่างๆ ในสาธารณรัฐเกาหลี เช่น การเดินทางไปยัง Korean Institute of Fusion Technology (KFE) เพื่อต่อยอดความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) กับ KFE ทางด้านพลังงานจากพลังงานฟิวชั่นและพลาสมา และงานวิจัยโดยใช้เครื่อง Tokamak อีกทั้งคณะได้เข้าไปสร้างความร่วมมือกับ บริษัท POSCO N.EX.T Hub โดยเชื่อมความร่วมมือระหว่าง NANOTEC กับ POSCO N.EX.T Hub ในเรื่องของงานวิจัยด้าน Hydrogen และ Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) ตลอดจนเดินทางไปยัง Pohang Accelerator Laboratory (PAL) เพื่อต่อยอดความร่วมมือในการพัฒนากำลังคน โดยทางสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้มีการส่งนักวิจัยมายัง PAL เพื่อศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยีการเร่งอนุภาคเพื่อนำกลับไปใช้พัฒนาเครื่องซินโครตรอน เครื่องที่ 2 ของประเทศไทยต่อไป

บพค. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนการยกระดับทักษะและความสามารถของนักวิจัย ตลอดจนเครือข่ายการวิจัยของประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายนานาชาติ ซึ่งการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายนานาชาตินั้นจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับการแข่งขันของประเทศ โดยหนึ่งในเป้าหมายหลักของ บพค. คือ การยกระดับความร่วมมือกับประเทศเอเชียตะวันออก (Global EAST) เช่น สาธารณรัฐเกาหลี (South Korea) สำหรับการวิจัยและพัฒนาในด้าน Climate change, CCUS, nature based solution, alternative energy, digital for health อาหารการเกษตรสำหรับอนาคต