บพค. ผนึกกำลังพันธมิตรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยปัญญาประดิษฐ์เพื่อสุขภาพส่วนบุคคลของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้จัดการประชุมฟอรัมโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ Thailand Personal Health AI in Action: โครงสร้างพื้นฐานการวิจัยปัญญาประดิษฐ์เพื่อสุขภาพส่วนบุคคลของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ในการร่วมระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แนวทางต่อการพัฒนางานวิจัยสำหรับสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยปัญญาประดิษฐ์เพื่องานวิจัยด้าน Personal Health AI ของประเทศไทย ณ ห้องประชุมบุษบา โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ

การประชุมได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ใน 3 กระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งคณาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AiAT) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ และภาคเอกชน รวม start-up จากหลายบริษัท ที่เกี่ยวข้องและมีความสนใจทั้งด้าน AI และการแพทย์ การพัฒนาแพลตฟอร์มระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติและระบบนิเวศดิจิทัลสุขภาพ และการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบสารสนเทศที่ทันสมัย นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ เป็นแผนย่อยในแผนพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลระดับชาติ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) ในการผลักดันการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่ดิจิทัล กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพให้เอื้อต่อการบริการอย่างไร้รอยต่อและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเร่งพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนผลงานวิชาการด้านการแพทย์และ AI เป็นลำดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานงานวิจัยด้าน Personal Health AI เพื่อลดปัญหาสาธารณสุขของประเทศ

ในบทบาทของ บพค.ที่มีพันธกิจในการบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการสร้าง Foundation ของประเทศ เป็น National Facility บพค. มีแนวทางการดำเนินงานที่ต่อยอดและขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล โดยการพัฒนา Consortium ที่มีการทำงานร่วมกัน

“บพค. สนับสนุนการใช้กลไกการพัฒนา Consortium ที่สร้างความร่วมมือแบบ Strategic partners ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และแสวงหาความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ/หน่วยงานต่างประเทศ ทั้งในด้านกำลังคนที่มีทักษะวิจัยสูง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยเพื่อสนับสนุน Frontier Research ด้วย Personal Health AI ที่ใช้ประโยชน์จาก Big Data Platform สำหรับการพัฒนา Smart Innovation ในการนำประเทศสู่ Smart Nation ต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ได้กล่าวนำการประชุม

จากนั้น วิทยากรทั้ง 6 ท่านได้แก่ นายแพทย์สุรัคเมธ มหาศิริมงคล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Health Data Center; HDC) กระทรวงสาธารณสุข คุณประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์ธนกฤต จินตวร รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (Big Data Institute) กระทรวง DES ดร.ชรีย์พร ภูมา ผู้อำนวยการฝ่ายการใช้ประโยชน์นวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และ และ ดร.วิศิษฐ ทวีปรังษีพร CEO บริษัท SKAI MED (Thailand) Thailand), Partner บริษัท Vital Bytes Venture (Singapore) ได้ให้ข้อมูลแนวทางการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และในต่างประเทศ รวมทั้งแชร์ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จาก AI ในการจัดการข้อมูลสุขภาพของประชาชนทั้งในด้านการวินิจฉัย การพยากรณ์โรค การเตือนภัยและให้คำแนะนำด้านสุขภาพ และการบริหารจัดการของโรงพยาบาลและสถานพยาบาล โดยวิทยากรได้ยกตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจ เช่น 1) โครงการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ภาพวินิจฉัยทางการแพทย์ประยุกต์ใช้ทางคลีนิก ของกระทรวงสธ. ซึ่งมีต้นแบบจากที่ โรงพยาบาลน่าน ได้นำ AI มาใช้ในการอ่านฟิล์มเอกซเรย์ทรวงอก 2) การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูล และใช้ AI ในการจัดทำกรมธรรม์รายบุคคล การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลการรับบริการของประชาชนย้อนหลัง และค้นหารูปแบบและสร้าง Model ด้วย AI สำหรับใช้ทำนายคนที่ยังไม่ป่วย ของสปสช. 3) การพัฒนา ระบบ Health Link (Thailand Health Information Exchange) ที่เชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยข้ามสถานรักษาพยาบาล ครอบคลุมระบบบริการสุขภาพของประชาชนไทยทุกระดับทำให้การตรวจวินิฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องและแม่นยำขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งกับแพทย์และผู้ป่วย โดย Big Data Institute กระทรวง DES และ 4) การพัฒนานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยา เพื่อให้รังสีแพทย์มีเครื่องมือในการประเมินเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก่อนการนำไปใช้ในการช่วยคัดกรอง วินิจฉัย รักษาและดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการโดยสมาคมปัญญาประดิษฐ์ ด้วยการสนับสนุนจาก TCELS และตัวอย่างจากต่างประเทศได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ เกาหลี ในด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพ และความก้าวหน้าของการพัฒนานวัตกรรม Medical AI เพื่อการป้องกันและรักษาสุขภาพของประชาชนในต่างประเทศ และแนวทางการบริหารจัดการข้อมูลสุขภาพที่อำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์

ทั้งนี้ ในระบบสาธารณสุขของไทยได้มีจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลสุขภาพไว้หลากหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น HDC ได้จัดเก็บ ข้อมูลการรับบริการ การวินิจฉัยโรค และการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยจากสถานพยาบาลและโรงพยาบาล รวมทั้งสิ้นมากกว่า 6 พันล้านรายการ (6 ปีย้อนหลัง) สปสช. จัดทำข้อมูลภาวะสุขภาพของประชากรรายพื้นที่ (ตำบล/หมู่บ้าน) จากกลุ่มโรคที่เจ็บป่วย ครอบคลุมผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง ประกันสังคม ราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิ์อื่นๆ เพื่อการรักษาพยาบาล และ Big Data Institute รวบรวมข้อมูลตามมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ เช่นการแพ้ การได้รับวัคซีน ประวัติหัตถการ ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จาก 1,165 โรงพยาบาลในทุกภูมิภาค การใช้เทคโนโลยี AI จะช่วยบูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปรับปรุงระบบสาธารณสุขของประเทศ

ในช่วงของการระดมสมอง ที่ประชุมได้ให้ความเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อพัฒนา Ecosystem ของการวิจัยด้าน AI เพื่อพัฒนาสุขภาพส่วนบุคคลของประชาชนไทย โดยเน้นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนด้าน Personal Health AI ที่เป็นทำงานด้าน Solution Development ที่ต้องเรียนรู้กลไกของการทำงานมากกว่าการใช้งาน Software รวมทั้งควรส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการในรูปแบบ Venture Builder ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่ด้วย ทั้งนี้ในมิติของการพัฒนา Consortium ต้องมีการเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดระหว่าง 1) หน่วยงานให้ทุน 2) ผู้วิจัยและพัฒนาทั้งจากมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยและ/หรือภาคเอกชน และ 3) User (ภาครัฐ/ประชาชน) consortium ต้องมี Business model และมี Timeline ของการ Spin-off ที่ชัดเจน และต้องมีแผนการบริหารจัดการนวัตกรรมให้สามารถนำไปใช้ได้ เช่น การขออนุญาตจากหน่วยงานที่เป็น Regulator เช่น กรมการแพทย์ หรือราชวิทยาลัยต่างๆ ที่มีอำนาจในการรับรองให้ใช้งานนวัตกรรมดังกล่าว เพื่อขอรับการสนับสนุนจากสปสช. ให้ผู้ป่วยเบิกจ่ายจากสปสช. ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ เนื่องจากในการทำงานด้าน Personal Health AI มีข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน กระจัดกระจายอยู่ที่โรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ หัวใจสำคัญคือแต่ละหน่วยงานจะต้องแชร์ข้อมูล เพื่อให้มีการศึกษาวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนไทย

การประชุมฟอรัมโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ Thailand Personal Health AI in Action ที่บพค. จัดในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา consortium สำหรับสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นคานงัดของงานวิจัยด้าน Personal Health AI ตามแนวทางของ SDG 3 (Good Health and Well Being) ที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันของประชากรโลกอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับสุขภาพและสุขภาวะที่ดีแก่ประชาชนไทยต่อไป