บพค.-สจล. ผนึกกำลังหารือกลไกในการพัฒนาหลักสูตรผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งตอบสนองภาคอุตสาหกรรมของประเทศ

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์ บพค. ประชุมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และหากลไกในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงให้แก่ประเทศผ่านแพลทฟอร์มวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) หรือ “ธัชวิทย์” ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลิสี อธิการบดี สจล. รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐ์ดนัย สินสมุทรผดุง รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐนนท์ ไพบูลย์ศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพล ภคศิริ รักษาการคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง และคณะ ณ สำนักงานอธิการบดี สจล. กรุงเทพฯ

การประชุมหารือครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เช่นสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และภาคอุตสาหกรรม ทั้งในและต่างประเทศ โดยมี บพค. เป็นตัวกลางในการสนับสนุนพัฒนาหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ผ่านโปรแกรม “ธัชวิทย์” (TAS-Educational Sandbox) ซึ่ง สจล. ถือเป็นสถาบันการศึกษาสำคัญในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ รวมทั้งมีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ไต้หวัน รวมทั้งมีการส่งเสริมเทคโนโลยีอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งล่าสุด สจล. ได้เปิด KMITL Space Hub ณ วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นผู้นำเศรษฐกิจอวกาศ นอกจากนี้ยังมีการผลักดันเทคโนโลยีแห่งอนาคตอื่น ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cyber security) โค้ดดิ้ง (coding) ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (microelectronics) รวมถึงเทคโนโลยีทางการเกษตร การพัฒนาเกษตรอินทรีย์เพื่อผลิตอาหารปลอดภัย เป็นต้น โดยในส่วนของโค้ดดิ้งนั้น สจล. มีการจัดตั้ง “42 บางกอก” (42 Bangkok) ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเขียนโค๊ดที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและเปิดโอกาสให้ทุกคน และได้สร้างโปรแกรมเมอร์ระดับหัวกะทิแห่งแรกในอาเซียนภายใต้ความร่วมมือของ “เอกอล 42” (Ecole 42) สถาบันปั้นโปรแกรมเมอร์ระดับโลกอีกด้วย

ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ บพค. ในการตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในการนี้ บพค. จึงมุ่งหวังในการสร้างความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงวิสัยทัศน์ดังกล่าวกับการผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศร่วมกันต่อไปในอนาคต