บพค. เสริมแกร่งครูด้าน AI และวิทยาการข้อมูล มุ่งพัฒนานักเรียนให้มีทักษะรองรับยุคดิจิทัลอย่างเข้มแข็งได้ในอนาคต

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. ได้รับเกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานการอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรปัญญาประดิษฐ์และวิทยาการข้อมูล สำหรับครูในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา” ระหว่างวันที่ 2-5 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรมรอยัล เบญจา สุขุมวิท 5 กรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการพัฒนาเพิ่มผู้มีความสามารถพิเศษระดับมัธยมศึกษา-อาชีวศึกษาและเครือข่ายด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และโค้ดดิ้ง (Robotics, AI, and Coding: RAC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณประจำปี 2566 จาก บพค. ภายใต้แผนงานย่อย N44 ยกระดับการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา กำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ และนวัตกร ที่มีทักษะสูง ให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อพัฒนาเยาวชนเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา ให้มีความสามารถพิเศษในการเพิ่มสมรรถนะด้านวิทยาการหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และโค้ดดิ้ง ได้อย่างยั่งยืน โครงการจึงมุ่งเน้นในการสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริหาร พัฒนาครูผู้สอน และเยาวชนในโรงเรียนและสถาบันอาชีวศึกษาจากเขตพื้นที่ภาคกลาง โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการนี้มีครูจากโรงเรียนและสถาบันอาชีวศึกษาในพื้นที่เขตภาคกลาง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งครูจากจังหวัดสงขลา เข้าร่วมจำนวนกว่า 47 คน

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค), สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, สำนักงานศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การอบรมในครั้งนี้มุ่งพัฒนาครูให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ปัญญาประดิษฐ์ ธุรกิจฐานนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้งานในอุตสาหกรรมจริง และการจัดการเรียนรู้วิทยาการข้อมูลในโรงเรียน เมื่อผู้บริหารสถานศึกษาและครูมีความเข้าใจเท่าทันวิทยาการเหล่านี้แล้ว จะส่งผลให้ครูมีความเข้าใจและสามารถเป็นผู้ให้คำแนะนำเด็กนักเรียน สามารถร่วมพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนของตนให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม และนักเรียนมีทักษะรองรับยุคดิจิทัลอย่างเข้มแข็งได้ในอนาคต ทั้งนี้ หลังจากการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับครูผู้สอนแล้ว คณะผู้วิจัยจะมีการอบรมเยาวชนเชิงปฏิบัติการสำหรับเยาวชนจากโรงเรียนและครูร่วมกันต่อไป