บพค. จัดงานประชุมภาคีเครือข่ายงานวิจัยขั้นแนวหน้า Frontier BCG เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการแพทย์และอาหารแห่งอนาคต

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. และทีมนักวิเคราะห์ พร้อมด้วยศาสตราจารย์ ดร.นพ. ฉัตรชัย เหมือนประสาท ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ ด้าน Frontier BCG บพค. จัดงานประชุม BCG Frontier Connect : ภาคีเครือข่ายงานวิจัยขั้นแนวหน้า Frontier BCG ในหัวข้อ “Big Data-Driven Digital and Personalized Healthcare Innovations” ณ ห้องประชุมแมนดาริน A และ B ชั้น 1 โรงแรมแมนดารินกรุงเทพ กรุงเทพมหานคร โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวงได้กล่าวเปิดงานและให้ข้อมูลนโยบายของ บพค. ในการขับเคลื่อนแผนงานทางด้าน Frontier BCG ซึ่งมุ่งเน้นการแพทย์จำเพาะบุคคลและอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งได้รับเกียรติจากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญจากหลายหน่วยงานร่วมประชุมและบรรยาย

นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้บรรยายในหัวข้อ “นโยบายและแนวทางการควบคุมโรคติดต่อที่สำคัญของกระทรวงสาธารณสุข” โดยกล่าวว่า นโยบายของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบบี (HBV) และไวรัสตับอักเสบซี (HCV) ต้องการให้มีการคัดกรองไวรัสทั้งสองชนิดนี้ในคนไทย เพื่อเข้ารับยาหรือฉีดวัคซึน เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อกันได้ หากสามารถดำเนินการได้ โอกาสการติดเชื้อจะน้อยลง รวมถึงมะเร็งตับจะน้อยลงด้วย ในปีนี้คาดว่าจะคัดกรองให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านคน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้และมียารักษาเพียงพอ ดังนั้น ฐานข้อมูลจึงมีความสำคัญ หวังว่าให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงความรุนแรงและเข้ามาตรวจหากมีความเสี่ยง

นายแพทย์ธีระชัย ทรงเกียรติกวิน รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาโรคมะเร็ง กระทรวงสาธารณสุข บรรยายในหัวข้อ “ภาพรวมการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งของกระทรวงสาธารสุข” ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายซึ่งให้ความสำคัญดังนี้ 1. มะเร็งครบวงจร 2. ดิจิทัลสุขภาพ 3. การเปลี่ยนสุขภาพให้เป็นเศรษฐกิจ 4. สถานชีวภิบาล เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด การพัฒนาแนวทางการดูแลสุขภาพต้องคำนึงถึงระบบเศรษฐกิจและความคุ้มค่าทางทรัพยากร โดยเน้นการสร้าง value มากกว่าการสร้างผลงาน ต้องเข้าใจถึงปัญหาของข้อมูลของสุขภาพด้วย โดยอยากให้มองถึงเทคโนโลยี 3 ประเด็นที่มีมูลค่าทางสาธารณสุขคือ 1. Telemedicine 2. Cyber security 3. การใช้ AI ในการทำให้เกิดความมั่นคง ซึ่งการพัฒนาระบบ AI ต้องมี Input และ Process ที่ดีถึงจะได้ Outcome ที่ดี

นายแพทย์ภัทรวินท์ อัตตะสาระ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข บรรยายในหัวข้อ “โครงสร้างพื้นฐานข้อมูลสุขภาพเพื่อการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์” ว่าปัจจุบันเครือข่าย Medical AI Consortium มีการเก็บข้อมูล แปรผล และนำมาใช้ในการฝึกปัญญาประดิษฐ์ โดยทางสำนักดิจิทัลการแพทย์ได้ตั้งเป้าว่าในปีงบประมาณนี้จะกระจายเครือข่าย AI ให้ได้ 30% ของรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลต้องเป็นไปตามพรบ.คอมพิวเตอร์โดย ใช้ Government Data Center และ Cloud Service (GDC cloud) เป็นหลักซึ่งมีความปลอดภัยและมีการจัดทำ Data Privacy ทางกฎหมาย

นายแพทย์ภาสกร วันชัยจิระบุญ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภาและผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี ด้านศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง สาขาโรคมะเร็ง บรรยายในหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งตับในระบบสาธารณสุขของไทย” ว่าประเทศไทยติดอันดับผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับมากที่สุดและมีแนวโน้มจะแย่ลงในขณะที่ประเทศอื่นมีแนวโน้มการรักษาดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งคือแอลกอฮอล์ ตามมาด้วยไขมันเพอกตับ และในการคัดกรองและรักษา HBV และ HCV จากเป้าหมายการติดตามและรักษาต่อเนื่องจึงเกิดเป็นโครงการ EZ Liver Clinic มาโดยเริ่มที่จังหวัดจันทบุรี จากการคัดกรองประมาณ 10,000 คน พบว่ามีผู้ป่วยอยู่ประมาน 4.37% โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญว่า โรคมะเร็งจะสามารถรักษาได้ถ้ามีโอกาส ซึ่งโอกาสจะเกิดจากการบูรณาการการบริการ วิชาการ และการวิจัยเข้าด้วยกัน

ศาสตราจารย์ นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญทางด้านโรคตับอักเสบ และมะเร็งตับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บรรยายในหัวข้อ “การวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อรักษามะเร็งตับแบบจำเพาะบุคคลด้วยนวัตกรรมทางดิจิตัล” ว่าแนวทางการตรวจและรักษามะเร็งตับในปัจจุบันเป็นแบบ Fragmented Approach ยังขาด Holistic Approach ทำให้การศึกษาไม่ต่อเนื่องกัน และเป้าหมายในการรักษามะเร็งตับ คือ 1. Prevention 2. Early Detection โดยใช้ Blood-based Biomarker เช่น AFP เหมาะในการวินิจฉัยโรค สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ และ Healthcare system เป็นส่วนสำคัญในการรักษา โดย Telemedicine และ Virtual Tumor Board จะช่วยเสริมระบบเดิมให้ดำเนินง่ายและเร็วขึ้น สามารถให้คำปรึกษาออนไลน์หรือมีการประชุมรวมกลุ่มกันได้ทันที รวมถึงมีระบบแจ้งข่าวสารข้อมูลหรือการศึกษาได้ด้วย มีระบบความปลอดภัยของข้อมูลและ PDPA และการพัฒนา Translational Tesearch ในการหา Biomarker ใหม่ๆ ร่วมกับการทำ Operation Research ต้องมีการพัฒนา National Health Policy ระหว่างหลายภาคส่วนเพื่อพัฒนาร่วมกัน

พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช. ) กล่าวว่า สปสช.สามารถสนับสนุนงบประมาณโดยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเด็นการคัดกรองจะพยายามให้ครอบคลุมทุกสิทธิ โดยมะเร็งตับถือเป็นโรคมะเร็งที่มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะเป็นอันดับ 2 สิทธิประโยชน์เริ่มตั้งแต่การคัดกรอง วินิจฉัย และรักษา โดยรายการบางอย่างอาจไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด สปสช.กำลังรวบรวมข้อมูลว่าในระยะยาวผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ สปสช.ยังเล็งเห็นความสำคัญของฐานข้อมูลของผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็นต้องพัฒนาให้มีการจัดเก็บและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยตลอดระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษา และได้มาตรฐานเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดโอกาสในการสร้างนวัตกรรรมทางสุขภาพใหม่ๆ

พร้อมกันนี้ นักวิจัยและตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดโจทย์ วางแนวทางของงานวิจัยขั้นแนวหน้าที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการ และหารือประเด็นการสร้างกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำไปสู่การประสานความร่วมมือในรูปแบบของ Consortium การแพทย์และอาหารแห่งอนาคต โดยได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มุมมองการสร้างและพัฒนากำลังคน เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศร่วมกันต่อไปในอนาคต