บพค. ลงพื้นที่ติดตามผลการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี HandySense ระบบเกษตรอัจฉริยะ พร้อมต่อยอดการอบรมเป็นผู้ประกอบการให้แก่เยาวชนและครู

บพค. ลงพื้นที่ติดตามผลการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี HandySense ระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยทีมเยาวชนและครูจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสิรินธร หนึ่งในกลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาพลเมืองดิจิทัล เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะด้วย STEM, Coding, IoTs และ AI เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. และนักวิเคราะห์โครงการ บพค. คุณชนินาถ ศรีเพ็ญ ดร.ชิดชนก อนุตระกูลชัย และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ พร้อมทั้ง คุณไพบูลย์ พนัสบดี ผู้แทนจากสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ได้ร่วมลงพื้นที่ติดตามผลการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี HandySense ระบบเกษตรอัจฉริยะ กับคณะผู้วิจัย ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสิรินธร จังหวัดนครปฐม โดยเยาวชนจากศูนย์ฝึกเด็กและเยาวชนฯ แห่งนี้ได้เข้าร่วมอบรมในโครงการพัฒนาพลเมืองดิจิทัล เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะด้วย STEM, Coding, IoTs และ AI โดยมี คุณนพดร ปัญญาจงถาวร รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับคณะผู้วิจัย ดร.นริชพันธ์ เป็นผลดี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สวทช. ผู้พัฒนาระบบ HandySense และคณะผู้แทนจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพค. ภายใต้แผนงาน N44 (S4P21) พัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีสมรรถนะและความรู้ ฉลาดรู้ทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รวมถึง Coding โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

สืบเนื่องจากการติดตามสังเกตการณ์อบรมหลักสูตรเทคโนโลยีระบบเกษตรอัจฉริยะ โดยใช้นวัตกรรมแบบเปิด HandySense ขั้นสูง เมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ทีมเยาวชนและครู จำนวนทั้งสิ้น 48 คน สามารถติดตั้งและออกแบบการใช้งานจริงในพื้นที่ จำนวน 8 แห่ง ต่อมาทีมเยาวชนและครูจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนสิรินธร หนึ่งในกลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมได้นำเทคโนโลยีมาติดตั้งและเรียนรู้ที่ศูนย์ฝึกฯ และได้นำเสนอผลจากการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งความคาดหวังในการนำไปขยายผลต่อครอบครัว ชุมชน การนำศักยภาพที่มีไปใช้ในทางสร้างสรรค์

โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศิรินันท์ฯ และคุณไพบูลย์ ได้ร่วมมอบประกาศนียบัตรให้กับคณะเยาวชนและครูผู้เข้ารับการอบรม พร้อมทั้งฝากให้น้อง ๆ เยาวชนได้นำความรู้ที่ได้รับการจากการอบรมในโครงการนี้ ไปพัฒนาตนเอง ต่อยอดทักษะความรู้ต่าง ๆ ใช้ในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต รวมถึงการเป็นสะพานถ่ายทอดความรู้ต่อผู้อื่นในชุมชนและสังคม นอกจากนี้โครงการยังมีการขยายผลไปสู่การอบรมเป็นผู้ประกอบการให้แก่เยาวชนและครูในโครงการ โดยมีความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และพัฒนาสู่หลักสูตรในสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคกลางต่อไป