บพค. เร่งพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงโดยอาศัยจตุรภาคี พร้อมเป็นฟันเฟืองสำคัญสู่อาชีพแห่งอนาคต

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วย ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธานฯ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย จำกัด ได้รับเกียรติจากสมาคมสภาคณบดีวิทยาศาสตร์ ในการบรรยายพิเศษ เพื่อเสนอแนวทางการส่งเสริมการสร้างและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง ให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับอาชีพแห่งอนาคต ในงานประชุมสมาคมสภาคณบดีวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม 2567 ณ โรงแรม ทอแสง เฮอริเทจ อำเภอ โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี และทางออนไลน์

โอกาสนี้ ศ. สมปองฯ ได้กล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อเรื่อง “SCIENCE CAREER มองภาพในอนาคต ในมุมมองของแหล่งทุน” แก่สมาคมสภาคณบดีวิทยาศาสตร์ โดยได้กล่าวถึงรูปแบบการสร้างและพัฒนากำลังคน เพื่อตอบโจทย์ต่อการพัฒนาประเทศ และเข้าสู่ระบบการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย การสร้างการเรียนรู้ (Knowledge) ที่ทุกคนจะได้รับการบ่มเพาะ การเรียนรู้จากมหาวิทยาลัย การสร้างทักษะ (Skill) และการสร้างเจตคติ (Mindset) เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับการทำงานและการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของการสร้างและพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานปัจจุบัน ต้องมีการทำงานร่วมกันในรูปแบบจตุรภาคี (Quadruple helix) ประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษาหรือสถาบันวิจัย ภาครัฐ และประชาคม รวมถึงการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เสนอมุมมอง สายงานที่ต้องเร่งพัฒนากำลังคน เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ โดยประเด็นที่ บพค. มุ่งเน้น คือการสร้างกำลังคนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือสร้างโอกาสและรากฐานไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมและกิจการแห่งอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยกำลังคนทักษะสูงที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และวิทยาการ ขั้นแนวหน้าเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสำคัญสู่งภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในทัดเทียมกับนานาชาติ อาทิ

  1. เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) เทคโนโลยีการทางแพทย์เพื่อทางเลือกในการรักษา
  2. เทคโนโลยีสะอาด พลังงานสะอาด เทคโนโลยีสีเขียว (Net Zero Emission) เช่น นักวิทยาศาสตร์ด้านการพลังงานทดแทน ผู้ทวนสอบก๊าซเรือนกระจก (Carbon Verifier)
  3. เทคโนโลยีที่เป็นจุดคานงัด ในการนำข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ เช่น กิจการอวกาศ (Earth Science/Space Science/Geoinformatics)
  4. เทคโนโลยีขั้นแนวหน้าเพื่ออุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น High Energy Physics, Plasma & Fusion Technology, Quantum Technology, Autonomous & EV
  5. การพัฒนากำลังคนด้าน Creative Economy / Soft power สำหรับอุตสาหกรรมในการสร้างสรรค์ Digital Creative content

พร้อมกันนี้ ดร.สัมพันธ์ฯ ได้ร่วมบรรยายพิเศษ เพื่อเสริมความเข้มแข็งของการพัฒนากำลังคนของประเทศไทย ในหัวข้อ “การเตรียมนักศึกษาอย่างไรให้ได้งานทำก่อนเรียนจบ จากมุมมองของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมระดับโลก” ซึ่งได้ให้มุมมองในประเด็นของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (Disruptive Technology) มหาวิทยาลัยควรมีการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องหลักสูตร การผลิตกำลังคนที่มีทักษะ ให้พร้อมต่อการเข้ามาลงทุนของนักลงทุน
อย่างไรก็ตามการสร้างและพัฒนากำลังคนเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญมาก ซึ่งการพัฒนาทักษะ หรือการเสริมทักษะใหม่อยู่ตลอดเวลา (Reskill/Upskill/New-skill) เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสเติบโตในสายอาชีพที่สำคัญ ทั้งนี้อาชีพทางวิทยาศาสตร์ในอนาคตจะต้องเน้นความรู้ในด้านเทคโนโลยี การวิเคราะห์ข้อมูล และการปรับตัวที่รวดเร็ว