บพค. ร่วมสะท้อน "สร้างภูมิทัศน์ใหม่งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์" ผ่านสหวิทยาการ “ข้ามพรมแดนความรู้”

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. เข้าร่วมงานสัมมนาวาระการวิจัยสังคมศาสตร์และเครือข่ายนักวิจัยสังคมศาสตร์ของประเทศไทย ครั้งที่ 1 “ภูมิทัศน์สังคมศาสตร์ไทย สถานะ คุณค่า และทิศทางการพัฒนา” ณ หอประชุมใหญ่ ชั้น 4 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพฯ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) หรือ ศมส. ซึ่งได้รับเกียรติเป็นวิทยากรช่วงการเสวนาในหัวข้อ “สร้างภูมิทัศน์ใหม่งานวิจัยด้านสังคมศาสตร์“ ร่วมกับ คุณธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.พิสมัย ประชานันท์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ศาสตราจารย์ ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ประธานคณะทำงานหน่วยบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการสร้างธรรมาภิบาล ลดปัญหาคอร์รัปชัน และความรุนแรง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยละนวัตกรรม (สกสว.) และคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในการนี้ ศ. ดร.สมปองฯ ได้กล่าวถึงนโยบายและทิศทางของ บพค. ในการสนับสนุนทุนวิจัยด้านสังคมศาสตร์ รวมถึงด้านมนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ โดยมองว่า การขับเคลื่อนสังคมไทยนั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงานวิจัยด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของผู้คนในสังคมไปพร้อมกัน
ดังนั้น งานวิจัยในยุคปัจจุบันและอนาคตจึงต้องมีลักษณะเป็นสหวิทยาการที่ใช้องค์ความรู้หลากหลายสาขาวิชา หลากหลายศาสตร์ มาผสมผสานใช้ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ขึ้นเป็นองค์ความรู้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์รวมถึงการแก้ไขปัญหาทางสังคมต่าง ๆ อาจกล่าวได้ว่าเป็นการ “ข้ามพรมแดนความรู้” เพื่อรองรับความผันผวนทางสังคมในอนาคต